วิธีเล่าเรื่องจากมุมมองบุคคลที่ 1 (POV1)

อู้งานมาเขียนเพราะขี้เกียจแก้นิยายตัวเองที่ยังคั่งค้างและไม่สามารถหาตอนจบได้ บทความนี้เขียนเพราะคุณมินเคยบ่นให้ฟังว่าเขาเขียนได้แต่มุมมองพระเจ้า (Point of View 3) มุมมองพระเจ้าคือการเขียนแบบที่คุณเห็นได้ตามหนังสือทั่วไป นึกถึงเวลาอ่านแล้วคนเล่าเล่าถึงตัวเอกว่า เขา เธอ สัตว์ สิ่งของ สิ่งแวดล้อมและสถานที่โดยรอบ

การเล่าแบบ POV3 สะดวกมากกับการเล่าทั้งมุมใกล้ชิดและมุมกว้างถึงบรรยากาศ เซ็ตติ้งโลก สังคมและตัวละครอื่นๆ แต่ก็ยังมีการดำเนินเรื่องอีกแบบที่เป็นที่นิยมใช้กันมาตั้งแต่สมัยก่อน เพราะสามารถเข้าถึงห้วงลึกทางความคิดและมุมมองได้อย่างเข้มข้น นั่นก็คือมุมมองบุคคล (หรือ Point of View 1) นั่นเอง

ตัวอย่างนิยาย POV 1 ที่แนะนำให้อ่าน

9786167591391

นักล้วง (The Thief) : นวนิยายญี่ปุ่นเกี่ยวกับชายที่ประกอบมิจฉาชีพ เป็นคนชั้นต่ำธรรมดาที่ดันต้องไปยุ่งเกี่ยวกับพวกมาเฟีย (ว่าง่ายๆ คือโดนเขาหลอกใช้ทำนั่นทำนี่) โดยแลกกับชีวิตของคนที่เขามีน้ำใจด้วย ตัวเอกเรื่องนี้ไม่ใช่คนอยากรู้อยากเห็นอะไร มุมมองของเขาจึงถูกจำกัดคับแคบ และพยายามเล่าไปทั้งที่มีเรื่องที่รู้อยู่แค่นั้น จนจบเรื่องก็ยังไม่รู้ว่าในสเกลที่ใหญ่กว่าตัวเองเกิดอะไรขึ้น

(เราใช้เรื่องนี้เป็นเรฟตอนเขียน Partners in Crime โม่ซั่ง)

 

cover_one_of_us_jun

One of us is lying : คดีฆาตกรรมเกิดขึ้นโดยมีผู้ต้องสงสัย 4 คน ตัวละคร 4 ตัว ทั้งชายหญิงสลับกันออกมาเล่ามุมมองตัวเอง เรื่องนี้เล่าโดยตัวละครที่นิสัยต่างกันมาก และเล่าล้วงลึกไปถึงปัญหาเบื้องลึกที่พวกเขาเผชิญอยู่ด้วย ทำให้คนอ่านแยกตัวละครขาดจากกันโดยไม่รู้สึกสับสนได้ดี


 

ต่อไปมาพูดถึงหลักการเบื้องต้นในการเขียน POV1

สร้างคาแรคเตอร์ 

1

ขั้นแรกเลย นิยาย POV3 จะเริ่มที่อย่างอื่นที่ไม่ใช่ผู้เล่าเรื่องก็ได้

แต่ POV1 จำเป็นต้องมีผู้เล่าเรื่องที่จะใช้คำว่า “ฉัน” / “ผม” (กู/ ข้าพเจ้า /บลาๆ อะไรก็ตาม) เพราะฉะนั้น การเขียน POV1 ต้องให้ความสำคัญกับการใส่รายละเอียดตัวละครเป็นพิเศษ โดยเฉพาะถ้าเรื่องนั้นคุณจะมีคนเล่ามากกว่าหนึ่งคน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถแยกน้ำเสียงผู้เล่าออกจากกันได้

 

2

ทำ Character Sheet โดยสังเขป แบ่งข้อมูลเป็นข้อมูลเบื้องต้น เช่น

  • ชื่อ ลินดา
  • อายุ 22 เพิ่งเรียนจบใหม่ด้านภาษา อยู่ในช่วงวิ่งสัมภาษณ์งาน
  • ผมสั้นสีน้ำตาลธรรมชาติ
  • ดูจืดๆ ลุกลี้ลุกลน แต่เป็นคนกระตือรือร้นมาก
  • อยู่อพาร์ทเมนต์คนเดียวกับกระต่ายที่แอบเลี้ยงในห้อง

ข้อมูลเชิงลึก ที่จะไม่เปิดเผยในเนื้อหาช่วงแรก (จะเพราะตัวละครไม่อยากบอกให้คนอ่านรู้ หรือเพราะตัวละครไม่รู้ตัวเลยก็ตาม) แต่จะเปิดเผยผ่านพฤติกรรมการเล่าของตัวละครเอง หรือบุคคลที่ 3 ที่เข้ามาปฏิสัมพันธ์กับตัวละครค่ะ

  • เป็นภูมิแพ้ แพ้อากาศ ฝุ่น ผงทุกชนิด
  • มีปมถูกกลั่นแกล้งวัยเด็ก ทำให้ไม่เชื่อใจคนรอบข้างที่มาทำดีด้วย
  • เหมือนจะสนิทกับคนง่าย แต่ไม่นับใครเป็นเพื่อนเลย แต่ก็กลัวว่าอีกฝ่ายจะไม่นับเราเข้ากลุ่ม จึงทำตัวเลียนแบบพฤติกรรมคนรอบข้างตลอดเวลา ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ กระเป๋าแบรนด์
  • ชอบสั่งของออนไลน์มาก

พอเข้าใจไหมคะ 555


 

หัวข้อต่อมา เป็นเรื่องของน้ำเสียงค่ะ

3

ตัวละครไม่จำเป็นต้องพูดกับคนอ่านเสมอไป อันนี้จำไว้นะคะ เราไม่อยากให้คนเขียนต้องลิมิตตัวเองว่าตัวละครผู้ดำเนินเรื่องเป็นแค่ผู้บันทึกเหตุการณ์ ตัวละครบางตัวอาจจะพูดกับตัวเองอยู่ก็ได้ หรืออาจจะพูดกับตัวละครอีกตัว…

(วิธีเล่าแบบนี้เราใช้หลอกคนอ่านในเรื่องอยู่แชร์เฮาส์กับเหล่านักเขียนค่ะ หลอกว่าอารีย์คุยกับคนอ่านที่นั่งตรงข้ามในร้านหนังสือแล้วเล่าเรื่องคนที่บ้านให้ฟัง แต่จริงๆ แล้วกำลังพูดกับอีกตัวละครหนึ่งต่างหาก ตอนที่เฉลยแล้วคนอ่านตกใจกัน เราแฮปปี้มากเลย5555)

แต่เรื่องสำคัญของการเขียน POV1 คือการที่เสียงของตัวละครแต่ละตัวแยกกันขาดจากกันค่ะ มีแบบทดสอบมาให้ทำง่ายๆ คือให้คุณ คนเขียน คุณนั่นแหละ ลองบรรยายภาพที่เห็นและสมมติเหตุการณ์ผ่านสายตาของตัวคุณเองดู มาเริ่มกันเลยค่ะ

DSCF3815

เล่าผ่านน้อง A (นางเอก) 

ฉันเปิดประตูเข้ามายังร้านที่ยายพวกนั้นนัดไว้แถวทองหล่อ ดูแพงจัง แบบนี้จะจ่ายไหวไหมเนี่ย ต่อให้หารกันก็เถอะ… อา นี่ฉันมาเร็วไปหน่อยใช่ไหม ถ้าพวกเธอไม่มาจะทำยังไง ถ้าพวกเธอรวมหัวกันแกล้งเทนัดฉันแล้วรุมหัวเราะเยาะกันลับหลังระหว่างที่พวกเธอไปเที่ยวดูหนังกันที่อื่น ปล่อยให้ฉันนั่งแช่อยู่นี่ทั้งวันจะทำยังไง

พนักงานเสิร์ฟเอาเมนูมาวางแล้ว ฉันทำตัวไม่ถูกเลย สั่งเครื่องดื่มมาลองก่อนแล้วกัน อ๊ะ แต่ถ้าทำอย่างนั้นแล้วพวกหล่อนโทรบอกให้เปลี่ยนที่นัดขึ้นมาฉันจะทำยังไงกันล่ะ แย่จัง อยากกลับบ้านจัง

—–

เล่าผ่านพี่ B (พระเอก) 

ช่วงเวลาวุ่นวายในกรุงเทพทำให้ผมอยากหาที่พักผ่อนเสียหน่อย ผมเลือกร้านที่ดูสงบไม่มีคน ตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์สีเข้มตัดกับบรรยากาศร้านสีขาวเป็นธรรมชาติ ที่นี่คือหลุมหลบภัยลับๆ ของผม

ผมหย่อนก้นลงนั่งบนที่นั่งประจำ ยิ้มทักทายพนักงานที่จำหน้าผมได้แล้ว บอกเขาว่า “เอาเหมือนเดิม”

พนักงานสาวคนนั้นยิ้มน้อยๆ แล้วตอบว่า “คาปูเย็นหวานน้อยใช่มั้ยพี่” แล้วเดินนวยนาดกลับไป ท่าทางของเธอทำให้ผมนึกถึงเด็กฝึกงานที่บริษัท ถ้าเธอเยือกเย็นและดูสบายๆ ได้เท่าพนักงานคนนี้ก็คงทำให้เธอทำงานสบายตัวมากขึ้นแท้ๆ ความลนลานไร้สาเหตุของเด็กคนนั้นทำให้ผมกังวลในฐานะหัวหน้าแผนกของเธอจริงๆ เลย

—–

— จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นคาเฟ่เดียวกัน แต่พอเล่าด้วยต่างน้ำเสียง ที่นี่ก็กลายเป็นที่ที่ให้บรรยากาศคนละแบบ นางเอกมองว่าร้านนี้น่ากดดันเพราะไม่เคยมา และกังวลว่าจะโดนเพื่อนเทนัด ส่วนพระเอกมองเป็นร้านประจำที่เรียบง่าย การทดสอบเล่าเรื่องผ่านตัวละครจะทำให้เรารู้แนวทางและพฤติกรรมของตัวละครมากขึ้นด้วยค่ะ คุณผู้อ่านเองก็สามารถฝึกบรรยายผ่านตัวละครดูได้เมื่อจะตัดสินใจทำอะไร ลองคิดดูว่าถ้าเราเป็นตัวละครนี้จะทำยังไงกับมัน และทำลงไปด้วยความคิดแบบไหนนะคะ

นอกจากนี้ยังสามารถใช้โจทย์เป็นหัวข้อต่างๆ ให้เห็นมุมมองที่ไม่เหมือนกันของตัวละครได้ด้วยค่ะ

56

ข้อนี้สำคัญสำหรับนักเขียน: อย่าได้กลัวตัวละครเราจะกลายเป็นคนไม่ดีค่ะ คนเราไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ไม่จำเป็นต้องมีทัศนคติตัวอย่างชี้นำสังคม แต่เวลาบรรยายสามารถสื่อออกมาได้ว่า นี่เป็นความคิดของตัวละคร เท่านั้นนะ และเพียงมุมมองของตัวละครเองก็ไม่ใช่ทั้งหมดของเนื้อเรื่องสักหน่อย สิ่งที่สำคัญคือต้องถ่ายทอดออกมาอย่างตั้งใจต่างหาก

ทั้งนี้ทั้งนั้น นักเขียนจะได้ไม่สร้างกรอบขังตัวเองจนเกินไป และสนุกกับการเขียนได้มากขึ้นค่ะ


 

พัฒนาการตัวละคร

พัฒนาการของตัวละครเป็นสิ่งที่ควรคิดไว้ตั้งแต่เริ่มค่ะ

ไม่จำเป็นต้องหรูหรามหาวิจิตรอะไรเลย อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่าง

  • หาเพื่อนใหม่ได้ เป็นเพื่อนรักกัน
  • ยอมเลิกกับแฟน
  • ใช้หนี้กยศ.หมด

อะไรแบบนี้ก็ได้ค่ะ 555 ซึ่งพัฒนาการเนี่ยมีได้ทั้งดีขึ้นและดิ่งเหว ขอแค่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลทางน้ำเสียงการเล่าของตัวละครผ่าน POV 1 ก็ควรค่าที่จะบันทึกไว้แล้ว เพื่อที่ตอนเขียนจะได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงบรรยากาศการเล่าไปตามเหตุการณ์อย่างเป็นธรรมชาติ

4

น้ำเสียงช่วงแรกของ A : เลิ่กลั่ก ทำอะไรไม่ถูก โทษตัวเอง ต้องพึ่งพาหัวหน้า

น้ำเสียงช่วงท้ายเรื่องของ A :  เยือกเย็น ผ่านงานยากและความผิดพลาดมามากจนสามารถรับมือกับเรื่องหนักๆ ได้ด้วยตัวเองแล้ว

ข้อมูลส่วนนี้ไม่ต้องเปิดเผยแก่ผู้อ่าน ขอให้เก็บเป็นสัดเป็นส่วนไว้ในเอกสาร/สมุดจดของคุณนักเขียนเองค่ะ เพื่อเราจะได้ไม่ลืม และเปิดมาเจอมันได้ตลอด


 

ผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้

ศัพท์วรรณกรรมคำว่า Unreliable Narrator หมายถึงผู้เล่าเรื่องที่เชื่อถือไม่ได้ คือคนที่เล่าเรื่องชักนำผู้อ่านให้เข้าใจผิดตามไปด้วยตามตรรกะและชุดความคิดของตัวละครเอง เช่น

  • เมาอยู่ ภาพที่เห็นไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ตัดไปตัดมา
  • ปฏิเสธความจริง (Denial) เช่น ลูกที่ไม่ยอมรับว่าพ่อแม่เฆี่ยนตีอย่างทารุณ เวลาเล่าเรื่องกลับเล่าว่าที่ถูกทำโทษเพราะพ่อแม่รักเรา เราต้องเป็นเด็กดี จะได้ไม่ทำให้พ่อแม่โกรธ
  • อายุน้อย ประสบการณ์น้อย ไม่เข้าใจภาพตรงหน้า เช่นเล่าว่า “พี่ชายตรงหน้า จู่ๆ ก็นอนหลับ มีคนหลายคนมาหิ้วพี่ใส่เปลไปนอนที่อื่น” — แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ คือพี่ชายคนนั้นล้มลงขาดใจตายแล้วมีเจ้าหน้าที่มาหิ้วไปโรงพยาบาล เป็นต้น
  • ผิดปกติทางจิต เช่นฆาตกรที่มองว่าเหยื่อยั่วยวนตนเองตลอดเวลา หรือผู้ใหญ่เป็นโรคใคร่เด็ก ที่เล่าเรื่องว่าเด็กให้ท่าอยู่ตลอด ทั้งที่จริงๆ เด็กอาจจะไม่ได้ทำอะไรเลย ตัวละครที่เล่าเรื่องอย่างนี้ก็แค่เล่าไปโดยไม่ได้มีเจตนาหลอกลวงผู้อ่านแต่อย่างใด เป็นแค่ชุดความคิดที่ผิดปกติของเขา

 

และการเล่าเรื่องที่จงใจหลอกผู้อ่าน เช่น

  • บอกไม่หมด ทำให้ผู้อ่านหลงเชื่อ เพราะตัวเองรู้สึกละอายต่อการกระทำของตัวเอง พบได้บ่อยในนิยายแนวชู้สาว และสืบสวน เช่นเรื่อง “เล่นซ่อนหาย” (Gone Girl)
  • เล่าทุกอย่างเกินจริง ขี้โม้ ทำให้คนอ่านไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง
  • เล่าทุกอย่างต่ำกว่าระดับความจริง ไม่แยแสต่อโลกและรอบตัว
  • จงใจโกหก

 

ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน การเล่าเรื่องแบบ Unreliable Narrator ก็เป็นแนวที่ต้องอาศัยการวางแผนและการเตรียมข้อมูลอย่างหนักแน่น เพราะมันต้องใช้พลังในการหลอกผู้อ่านอีกขั้นหนึ่ง

 

ที่นึกออกก็พอจะมีเท่านี้ ขอให้สนุกกับการเขียน POV1 นะคะ

เลิฟยอล

-kia 2019

One Comment Add yours

  1. Teerasak Bird says:

    ชอบมากเลยครับ แนวเขียน POV1 เหมือนเราเป็นตัวละครตัวนั้นไปเลย
    ผมชอบงานของ โอตสึอิจิ กับ มินาโตะ คานาเอะ มาก

Leave a comment